ข่าวกิจกรรม โครงการข่าวภารกิจผู้บริหารกับหน่วยงานภายนอก

ม.ราชภัฏเลย ร่วมงานวันระพี ประจำปี 2567 ณ ศาลจังหวัดเลย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระศักดิ์ เชี่ยวเวทย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฏหมาย พร้อมคณะผู้บริหาร  ร่วมพิธีวางพวงมาลา วันระพี ณ ศาลจังหวัดเลย

วันที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 06.30 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระศักดิ์ เชี่ยวเวทย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฏหมาย รองศาสตราจารย์ศักดิ์ชาย พวงจันทร์ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหาร ร่วมพิธีวางพวงมาลา วันระพี เบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” มีนายธวัชชัย บัวพิทักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเลย เป็นประธานพิธี มีคณะผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดเลยและศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ สภาทนายความ ร่วมพิธี ณ ลานด้านหน้าศาลจังหวัดเลย 

วันรพี เป็นการน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้วางรากฐานด้านนิติศาสตร์ให้ประเทศไทย นับเป็นคุณูปการอันล้นพ้นที่มีต่อวงการกฎหมายไทย

วันรพี มาจากพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ประสูติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417 ทรงเป็นนักนิติศาสตร์ ผู้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อให้ความรู้แก่นักเรียน นักกฎหมาย และผู้พิพากษา 

ประวัติด้านการศึกษาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงสอบเข้าเรียนต่อด้านกฎหมาย ณ วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ขณะมีพระชนมายุเพียง 17 พรรษา ทรงสอบไล่ผ่านทุกวิชาใช้เวลาศึกษา 3 ปี และได้รับปริญญาเกียรตินิยมทางกฎหมาย เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา เป็นที่พอพระราชหฤทัยแก่รัชกาลที่ 5 โดยทรงเรียกพระราชโอรสของพระองค์ว่า “เฉลียวฉลาดรพี

หลังจากนั้น เสด็จกลับมารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทรงมีบทบาทอย่างมากในการวางแบบแผน แก้ไขปรับปรุงระเบียบศาลยุติธรรมของไทย อีกทั้งทรงรวบรวมข้อกฎหมาย คำพิพากษา ตำราทางกฎหมาย เพื่อให้มีความทัดเทียมนานาประเทศ โดยทรงได้รับยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” ในฐานะผู้เริ่มต้นวางรากฐานด้านกฎหมาย และวางรากฐานการศึกษานิติศาสตร์ในประเทศไทย

พระองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับการตัดสินคดีความของผู้พิพากษาคือ “ความซื่อสัตย์สุจริต” โดยทรงถือเป็นอุดมคติที่ต้องยึดมั่นมากกว่ากิจส่วนตัว โดยเฉพาะการ “ไม่กินสินบน” ผู้ที่จะมาทำงานเป็นผู้พิพากษา หรือทำงานด้านกฎหมาย จำเป็นต้องมีคุณสมบัติข้อนี้ เพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้ประชาชน อันนำไปสู่ความเจริญและการยอมรับของนานาประเทศ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สิ้นพระชนม์ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2463 ต่อมาเนติบัณฑิตยสภาได้เห็นชอบถวายการยกย่องพระองค์ท่าน โดยกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันรพี” เริ่มใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2497 มาจนถึงปัจจุบัน

คลิกชมภาพ

kanok namkhanthi

facebook.com/namkhanthi