โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น นำนักศึกษาบูรณาการภูมิปัญญายกระดับกลุ่มองค์กรชุมชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งศักดิ์ คชโคตร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2565 ความร่วมมือระหว่างธนาคารออมสินกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย สร้างนักศึกษา ร่วมคิด ร่วมทำ บูรณาการภูมิปัญญา นำวิทยาการกระบวนการทำงานสมัยใหม่ ไปยกระดับขีดความสามารถกลุ่มองค์กรชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการ ให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม แข่งขันในตลาดได้
วันที่ 19 ตุลาคม 2565 มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ร่วมกับธนาคารออมสิน จัดโครงการ โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2565 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งศักดิ์ คชโคตร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2565 ความร่วมมือระหว่างธนาคารออมสินกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มี ผู้ช่วยศาตราจารย์ชินเชิง แก้วก่า ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรายได้และสิทธิประโยชน์ กล่าวรายงานการจัดโครงการ นำเสนอผลสัมฤทธิ์การดำเนินโครงการออมสินยุวพัฒน์ฯ การแสดงผลิตภัณฑ์และบริการจากชุมชน และนำเสนอจากนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ และมอบรางวัลแก่ทีมนักศึกษา และมอบ้กียรติบัตรแก่กลุ่มชุมชน นักศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษาและคณะทำงานแต่ละทีม ทีมนักศึกษาที่ได้รับรางวัล The Best จะได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในการเข้าประกวดแข่งขันในระดับประเทศ
ผลการนำเสนอผลสัมฤทธิ์ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ (The Best) คือ ทีมเมล็ดพันธุ์ครูเลย จากคณะครุศาสตร์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าขาวม้า กลุ่มผู้สูงอายุภูบ่อบิด จังหวัดเลย ได้รับเงินรางวัล 9,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 คือ ทีมโฮมเหือง Farm-stay & Farm-to-Table คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ด้วยนวัตกรรมฟาร์มเสตย์บนวิธีชุมชนโฮมเหือง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักสุขภาพ- โฮมเหือง อำเภอท่าลี่ ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 คือ ทีม Shikku (ชิคคุ) จากคณะวิทยาการจัดการ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์แชมพูสมุนไพร กลุ่มโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลเมือง เขตตำบลเมือง ได้รับเงินรางวัล 4,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลชมเชย จำนวน 2 ทีม คือ ทีม Foodie gang จากคณะวิทยาการจัดการ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวประมงพื้นบ้าน อำเภอเชียงคาน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว เกษตรริมโขง ประมงพื้นบ้าน อำเภอเชียงคาน และทีมไพลทีม จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาครีมนวดจากสมุนไพรไพล กลุ่มหงส์หยก ตำบลบ้านโป่ง ทั้งสองทีม ได้รับเงินรางวัล 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
การดำเนินโครงการ จัด ณ ห้องจัดเลี้ยง ชั้น 2 โรงแรมภูคำเพลส มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย