อธก.มรภ.เลย กล่าวเปิดโครงการวัคซีนใจในสถาบันอุดมศึกษา
รองศาสตราจารย์สมเจตน์ ดวงพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการวัคซีนใจในสถาบันอุดมศึกษา จังหวัดเลย เขตสุขภาพที่ 8 ปีงบประมาณ 2565 กิจกรรมที่ 2 การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพกลุ่มแกนนำในการเฝ้าระวังและติดตามผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ระดับสถาบันอุดมศึกษา จังหวัดเลย ปีงบประมาณ 2565
วันที่ 15 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 น. งานสุขภาพจิตและจิตเวช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย จัดโครงการวัคซีนใจในสถาบันอุดมศึกษา จังหวัดเลย เขตสุขภาพที่ 8 ปีงบประมาณ 2565 กิจกรรมที่ 2 การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพกลุ่มแกนนำในการเฝ้าระวังและติดตามผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ระดับสถาบันอุดมศึกษา จังหวัดเลย ปีงบประมาณ 2565 โดยรองศาสตราจารย์สมเจตน์ ดวงพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เป็นประธานกล่าวเปิดและให้โอวาทแก่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ มีนางสิริพร พุทธิพรโอภาส ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการ
นางสิริพร พุทธิพรโอภาส ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 กล่าวถึงการจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพกลุ่มแกนนำในการเฝ้าระวังและติดตามผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ระดับสถาบันอุดมศึกษา จังหวัดเลย ปีงบประมาณ 2565 เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการวัคซีนใจ ในสถาบันอุดมศึกษา เขตสุขภาพที่ 8 ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการหลายมิติทั้งร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และสังคม ส่งผลต่อการใช้ชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต การฆ่าตัวตาย ยังเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของวัยรุ่นในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่าเด็กและเยาวชนอายุ 10-29 ปี ราว 800 คน ฆ่าตัวตายสำเร็จใน พ.ศ. 2562 กรมสุขภาพจิต เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานเฝ้าระวังและช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตของประชาชน ในการขับเคลื่อนดำเนินงานเพื่อดูแลสุขภาพจิตของประชาชนในพื้นที่ โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การเสริมสร้างวัคซีนใจด้วยหลัก 4 สร้าง ได้แก่ สร้างความรู้สึกปลอดภัย (Safety) สร้างความมั่นคงในจิตใจ (Calm) สร้างความหวัง (Hope) และสร้างความเข้าใจ เห็นใจและให้โอกาส (Care) ที่จะเป็นกลไกในการป้องกัน ดูแล และลดปัญหาทางด้านสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิตนักศึกษา ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นและมีทักษะในการดูแลช่วยเหลือเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับความร่วมมือด้วยดีจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ที่ให้การสนับสนุนผู้เข้าร่วมการประชุม อำนวยความสะดวกด้านสถานที่และบริการ
มีผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 40 คน ประกอบด้วย อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย โรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ และได้รับเกียรติจากทีมวิทยากร โดยศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ในการบรรยายและดำเนินกิจกรรมการประชุมในครั้งนี้ ภายในหอประชุมขุมทองวิไล มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย