ข่าวกิจกรรม โครงการ

มรภ.เลย ทำโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรในชุมชน ร่วมอนุรักษ์กระบือ สร้างแหล่งเรียนรู้นักศึกษา


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาว์ อินใย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เป็นประธานเปิดโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่น มอบโค กระบือให้เกษตรเลี้ยงดูเพิ่มแหล่งเรียนรู้ปศุสัตว์แก่นักศึกษา

วันที่ 12 มีนาคม 2563 เวลา 09.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาว์ อินใย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เป็นประธานจุดธูปเทียนประกอบพิธีสงฆ์เปิดโครงการ ธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่น

หลังพิธีเปิดมีพิธีมอบโค-กระบือ แก่เกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 4 ราย นำพ่อพันธ์ุ แม่พันธุ์โค-กระบือ ไปเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ และใช้แรงงาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาว์ อินใย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีหน้าที่จัดการศึกษาพัฒนาบัณฑิตอันเป็นหน้าที่หลักแล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏยังมีพันธกิจในการลงพื้นที่พัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่น ตามพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะ 20 ปี ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการงานของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยกับกับชุมชน เน้นการมีส่วนร่วม ให้เกิดผลการดำเนินงานสามารถสนองตอบความต้องการยกระดับความเป็นของชุมชนท้องถิ่นเป็นรูปธรรม

โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่นโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ของสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสัตวศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นอีกหนึ่งโครงการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในชุมชนที่มีฐานะยากจน และต้องการลดค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตร เข้าร่วมโครงการผ่านการพิจารณาเข้าร่วมโครงการ และรับมอบพ่อพันธุ์แม่พันธุ์โค-กระบือ ไปเพาะเลี้ยงและใช้แรงงาน โดยปัจจุบันโค-กระบือ เริ่มลดน้อยลงเพราะเกษตรกรหันไปใช้แรงงานเครื่องจักรมากขึ้น แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน หากเกษตรเพาะเลี้ยงและช่วยขยายพันธุ์โค-กระบือ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนทางการเกษตรแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางเกษตรด้วย นอกจากจะใช้แรงงานแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์โค-กระบือ และมูลของโค-กระบือ ยังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประโยชน์กับพืช โดยที่เกษตรกรไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมี ทำให้ได้ผลิตทางเกษตรอินทรีย์ยังมีราคาดีและเป็นที่ต้องการของคนที่รักสุขภาพด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จารุวัลย์ รักษ์มณี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนอกจจากจะเกิดประโยชน์โดยตรงกับเกษตรกรในการมีโค-กระบือไว้เพาะเลี้ยงเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ยังเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยโดยนักศึกษาสาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือให้คำแนะนำในการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกร เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันกับเกษตรกร นักศึกษาและอาจารย์ผู้สอน โดยมีเงื่อนไขการมอบพ่อพันธุ์แม่พันธุ์โค-กระบือ แก่เกษตรกร เป็นการให้ยืมเพื่อการเพาะพันธุ์และใช้แรงงาน เกษตรต้องมีการรายงานทุก 6 เดือน ในระยะเวลา 5 ปี และเมื่อตกลูกตัวแรก ต้องรายงานแก่คณะกรรมการโครงการฯ ภายใน 15 วัน และเลี้ยงดูลูกโค-กระบือ จนอายุครบ 18 เดือน ให้ส่งมอบกลับโครงการ เพื่อพิจารณาให้เกษตรกรรายต่อไปที่ยืนขอเข้าร่วมโครงการ และลูกโคกระบือตัวถัดไปที่เกิดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์คู่เดิมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรที่ร่วมโครงการ

โดยเกษตรกรที่ผ่านการพิจารณาเข้าร่วมโครงการครั้งนี้มีจำนวน 4 ราย มี
1. นายวิชาติ สีขาว อยู่บ้านเลขที่ 646 หมู่ที่ 11 ตำบลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเลย
2. นายธนวัฒน์ วังเหนือ อยู่บ้านเลขที่ 523 หมู่ที่ 11 ตำบลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเลย
3. นางวิมลรัตน์ จีริผาบ อยู่บ้านเลขที่ 501 หมู่ที่ 11 ตำบลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเลย
2. นายกองเรียน จันทวงค์ อยู่บ้านเลขที่ 256 หมู่ที่ 1 ตำบลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเลย

การส่งมอบโค-กระบือ ครั้งนี้ มี ดร.สุวัฒน์ มัตราช ปศุสัตว์จังหวัดเลย ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเลยและเจ้าหน้าที่ ผู้ใหญ่บ้านกำเนิดเพชรหมู่ที่ 11 อาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์ฝึกเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย (ซ่ำไก่เขี่ย)

คลิกชมภาพบรรยากาศ 1 2 3 4

kanok namkhanthi

facebook.com/namkhanthi